25 กรกฎาคม 2556

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา


วันมาฆบูชา

ต ร ง กั บ วั น ขึ้ น ๑ ๕ ค่ำ เ ดื อ น ๓

"มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า"มาฆบุรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓ วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปฎิโมกข์ แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหารกรุงราชคฤห์เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ "จาตุร" แปลว่า ๔ "องค์" แปลว่า ส่วน "สันนิบาต" แปลว่า ประชุม ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ
๑. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหาร
ในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจาก
พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
๓. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์
๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ
การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันนี้ก็คือ การทำบุญ ตักบาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำ ถวาย ดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดิน เวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัด เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี
กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา
๑. ทำบุญใส่บาตร
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
๓. ไปเวียนเทียนที่วัด
๔. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ


วันวิสาขบูชา


วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (ถ้าเป็นปีที่มีอธิกมาส ก็เลื่อนออกไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗) ในวันนี้ได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ๓ ประการ คือ
๑. เป็นวันประสูติ
๒. เป็นวันตรัสรู้
๓. เป็นวันปรินิพพาน
ด้วยเหตุตามที่กล่าวมา วันวิสาขบูชาจึงถือว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเมื่อถึงวันเช่นนี้ พุทธศาสนิกชนถ้วนหน้าทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส จึงพร้อมใจกันน้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้า ประกอบพิธีบูชาด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาด้วยความเคารพเป็นอย่างยิ่ง
การบูชาอันเนื่องด้วยวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาดังกล่าวมาก็ควรที่จะกล่าวประวัติไว้เพื่อเป้นการเจริญศรัทธา ความเชื่อและปสาทะความเลื่อมใสต่อไป
ประสูติ
พระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระศาสดาเอกของโลก เมื่อครั้งที่พระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทรงกระทำบุญญาธิการไว้ในสำนักของพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ มีพระพุทธเจ้าทรงพระนาม ทีปังกรเป็นต้นมาถึง ๔ อสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัลป์ จนได้รับพยากรณ์จากสำนักของพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๔ พระองค์นั้นว่า "จะได้เป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดม ในอนาคต" พระองค์ได้บำเพ็ญพุทธการกธรรมมีทานบารมีเป็นเป็นต้น และได้รวบรวมธรรม ๘ ประการ คือ
๑. มนุสฺสตฺตํ เป็นมนุษย์
๒. ลิงคสมฺปตฺติ เป็นเพศชาย
๓. เหตุ มีอุปนิสัยสมบัติที่จะบรรลุมรรคผลได้
๔. สตฺถารทสฺสนํ พบพระพุทธเจ้าขณะที่ยังทรงพระชนม์อยู่
๕. ปพฺพชฺชา บวชเป็นดาบสหรือพระภิกษุอยู่
๖. คุณสมฺปตฺติ ได้สมาบัติ ๘ และ อภิญญา ๕
๗. อธิกาโร อาจสละชีวิตแก่พระพุทธเจ้าได้
๘.ฉนฺทตา มีฉันทะ อุตสาหะ บำเพ็ญพุทธกากรธรรม
ธรรมทั้ง ๘ ประการนี้เรียกว่า "อภินิหาร"
พระพุทธองค์ได้ทรงกระทำอภินิหารแทบเบื้องยุคลบาทของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ทีปังกร ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ได้บำเพ็ญบารมีและพิจารณาถึงพุทธการกธรรมมาโดยลำดับตราบจนถึงอัตภาพเป็นพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมี
พระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษของโลก พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาด้วยมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือหมู่เวไนยสัตว์ทั่งข้องอยู่ในวัฏฏะให้ข้ามพ้นจากวัฏฏะ ดังนั้นพระองค์เมื่อจะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ก็ย่อมเสด็จอุบัติขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชาวโลกให้พ้นจากทุกข์ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอก เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออัตถประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นเอกเป็นไฉน ? คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออัตถประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย"
อีกประการหนึ่ง ความปรารถนาของพระพุทธเจ้าจะปรากฏง่าย ๆ เหมือนสามัญชนก็หาไม่ แท้ที่จริงแล้วความปรากฏของพระพุทธเจ้าเป็นการยาก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏของบุคคลผู้เอกหาได้ยากในโลก, บุคคลผู้เอกเป็นไฉน? คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏของบุคคลผู้เอกนี้แล หาได้ยากในโลก"
พระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษของโลก เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเป็นอัจฉริยมนุษย์ที่พิเศษกว่ามวลมนุษย์ทั้งหลาย เกิดขึ้นในโลก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์, บุคคลผู้เอกเป็นไฉน? คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์"
พระพุทธเจ้าผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษของโลก จะมีใคร ๆ ในโลกที่จะเปรียบเทียบเสมอกับพระองค์ย่อมไม่มี ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นผู้ไม่เป็นที่ ๒ ไม่มีใครเช่นกับพระองค์ ไม่มีใครเปรียบ ไม่มีใครเปรียบเสมอ ไม่มีส่วนเปรียบ ไม่มีบุคคลผู้เปรียบ ไม่มีใครเสมอ เสมอด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอ เป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งหลาย, บุคคลผู้เอกเป็นไฉน ? คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นผู้ไม่เป็นที่ ๒ ไม่มีใครเช่นกับพระองค์ ไม่มีใครเปรียบ ไม่มีใครเปรียบเสมอ ไม่มีส่วนเปรียบ ไม่มีบุคคลผู้เปรียบ ไม่มีใครเสมอ เสมอด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอ เป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งหลาย"
ความปรากฏของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษของโลก ย่อมจะให้สำเร็จสิ่งที่ประสงค์ทุกประการ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏขึ้นแห่งบุคคลผู้เอก เป็นความปรากฏขึ้นแห่งจักษุใหญ่ แห่งแสงสว่างใหญ่ แห่งโอกาสใหญ่ แห่งอนุตตริยะ ๖ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล, บุคคลผู้เอกเป็นไฉน ? คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏขึ้นแห่งบุคคลผู้เอกนี้แล เป็นความปรากฏขึ้นแห่งจักษุใหญ่ แห่งแสงสว่างใหญ่ แห่งอนุตตริยะ ๖ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งปฏิสัมภิทา ๔ เป็นการแทงตลอดธาตุเป็นอันมาก เป็นการแทงตลอดธาตุต่าง ๆ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งผลคือวิชชาและวิมุตติ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล"
พระพุทธพจน์ดังกล่าวมานี้ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า วันประสูติของพระพุทธเจ้านับว่าเป็นวันที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นวันเกิดของบุคคลผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษ เป็นอัจฉริยมนุษย์ เป็นผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จะหาบุคคลที่เสมอเหมือนไม่มีในโลก ดังที่พระองค์ทรงเปล่งกล่าวอาสภิวาจาว่า
"อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เสฏฺโฐหสฺมิ โลกสฺส เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก"
การประสูติของพระพุทธเจ้าที่สวนลุมพินี ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะต่อกัน ในวันเพ็ญ เดือน ๖ เป็นวันที่ชาวโลกได้บุคคลที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะเหตุนั้น วันประสูติของพระพุทธเจ้าจึงนับว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ตรัสรู้
พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายได้ทรงตรัสรู้สัจจธรรม ๔ ประการ หรือที่เรียกว่า "อริยสัจ ๔ ประการ" ซึ่งเป็นของจริงอย่างประเสริฐที่สุด ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองที่โคนต้นโพธิ์อัสสัตถพฤกษ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี โดยไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอนมาก่อนเลย ดังที่พระองค์ตรัสว่า
"เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง อันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้วในธรรมทั้งปวง ละธรรมที่เป็นไปในภพ ๓ ทั้งหมด พ้นแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเองแล้ว จะพึงอ้างใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนเช่นเราไม่มี บุคคลที่เสอมเหมือนเราก็ไม่มีในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เราเป็นศาสดาซึ่งไม่มีศาสดาอื่นยิ่งกว่า เราผู้เดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลสได้แล้ว"
ชาวโลกจึงพากันขนานพระนามแด่พระองค์ว่า "พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า" ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเราตถาคตตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการ เหล่านี้ตามความเป็นจริง ชาวโลกจึงเรียกตถาคตว่า เป็นองค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราตถาคตได้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้าในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่ประชาสัตว์ สมณ พราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์, เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ ประการนี้จึงเรียกว่า อริยสัจ"
จริงอยู่ อริยสัจ ๔ ประการที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนั้น เป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอน ไม่มีผิดพลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ไม่สามารจะคัดค้านหรือปฏิเสธได้ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัจจะ ๔ ประการนี้ เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น, สัจจะ ๔ ประการนี้ได้แก่อะไร ? ได้แก่ ทุกข์ เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น, สมุทัย เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น, นิโรธ เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น, มรรค เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น"
และธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นเป็นธรรมที่มีความสุขุมละเอียดลึกซึ้งยิ่งนัก มิใช่ธรรมที่ผู้มีกิเลสหนาปัญญาหยาบจะตามรู้ได้โดยง่าย ดังที่พระพุทธองค์ทรงมีพระปริวิตกเมื่อคราวที่ตรัสรู้ใหม่ ๆ ว่า
"ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้แล เป็นธรรมอันลึกซึ้ง พิจารณาเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมที่สงบระงับ ประณีต ตรึกตรองเอาเองไม่ได้ เป็นธรรมอันละเอียด รู้ได้เฉพาะผู้ที่เป็นบัณฑิต"
การตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่โคนต้นโพธิ์อัสสัตถพฤกษ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี ในวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น เป็นวันที่ชาวโลกได้บุคคลที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะเหตุนั้นวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงนับว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ปรินิพพาน
การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษที่สำคัญที่สุดของโลก ก็เป็นความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการดับสลายไปแห่งดวงตาของโลกชั่วนิจนิรันดร์ เป็นเหตุให้หมู่ประชาต้องโศกเศร้าอาลัยถึงด้วยความเสียดายในพระพุทธองค์ผู้เป็นดวงตาอันยิ่งใหญ่ของชาวโลก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การปรินิพพานของบุคคลผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษ เป็นเหตุเดือดร้อนใจ อาลัยอาวรณ์ของชนเป็นอันมาก, บุคคลผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษเป็นไฉน ? คือ พระตถาคตเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การปรินิพพานของบุคคลผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษ เป็นเหตุเดือดร้อนใจ อาลัยอาวรณ์ของชนเป็นอันมาก"
การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่ร่มไม้สาละ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ในวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น เป็นวันที่ชาวโลกต้องสูญเสียบุคคลที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะเหตุนั้น วันเสด็จดับขันธปริพพานของพระพุทธเจ้านั้นจึงนับว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว วันประสูติ และ วันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นวันนำมาซึ่งประโยชน์ ซึ่งความสุข ความเจริญ ความชื่นชม โสมนัสปรีดา และปราโมทย์แก่ชาวโลกทั้งปวง เพราะเป็นวันที่ชาวโลกได้บุคคลที่สำคัญที่สุดของโลก ส่วนวันดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น เป็นวันที่นำมาซึ่งความทุกข์ระทม โศกเศร้า อาลัยอาวรณ์เดือดร้อนใจของชาวโลกเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นวันที่ชาวโลกต้องสูญเสียเอกอัครมหาบุรุษผู้สำคัญที่สุดของโลก วันทั้ง ๓ นี้ ตกอยู่ในวาระเดียวกัน คือ ในวันเพ็ญ เดือน ๖ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน วิสาขะ) วันนี้จึงนับว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา
ในอภิลักขิตสมัยวันวิสาขบูชานี้ เราทั้งหลายผู้เป็นชาวพุทธ พึงกระทำประทักษิณเวียนรอบอุโบสถ หรือปูชนิยสถาน ๓ รอบ บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการบูชา ๒ ประการ คือ
๑. อามิสบูชา การบูชาด้วยสิ่งของมีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น
๒. ปฏิบัติบูชา การบูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีความพร้อมเพรียงกัน ตั้งตนไว้ชอบและไม่ประมาทขาดสติสัมปชัญญะให้เป็นไปด้วยดี
ในวันวิสาขบูชา อันเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาซึ่งเวียนมาบรรจบครบรอบปี ก็จักไม่ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ และได้ชื่อว่ากระทำการสักการะบูชาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง คือ บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติตามธรรมสมควรแก่ธรรม และจะได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติตามพระพุทธประสงค์อย่างแท้จริง
คำถวายดอกไม้ธูปเทียนในวันวิสาขบูชา
ยะมัมหะ โข มะยัง ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา, โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา ปัพพะชิโต, สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพัรหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ, สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะ- สาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวา, สะวากขาโต โข ปะนะ เตนะ ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ, สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลิกะระณีโย, อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ, อะยัง โข ปะนะ ปะฏิมา ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะกะตา, ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะริตะวา ปะสาเทนะ สังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ อิมัง วิสาขะปุณณะมีกาลัง ตัสสะ ภะคะวะโต ชาติสัมโพธินิพพานะกาละสัมมะตัง ปัตะวา, อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะทีปะธูปาทิ สักกาเร คะเหตะวา อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตะวา, ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา, อิมัง ปะฏิมัง ติกขักตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ, อิมัง ยะถา คะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา, สาธุ โน ภันเต, ภะคะวา สุจิระปะรินิพพุโตปิ ญาตัพเพหิ คุเณหิ อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน อิเม อัมเหหิ คะหิเต สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ.
คำแปล
เราทั้งหลายถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดว่าเป็นที่พึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดเป็นศาสดาของเราทั้งหลาย และเราทั้งหลายชอบซึ่งธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล ได้อุบัติขึ้นแล้วในหมู่มนุษย์ชาวอริยกะ ในมัชฌิมชนบท พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เป็นโคดม (เหล่ากอแห่งพระอาทิตย์) โดยพระโคตร เป็นบุตรแห่งศากยะ เสด็จออกบรรพชาแล้วแต่ศากยสกุล เป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่งพระอะนุตตะระสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลกกับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาลและมนุษย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (ความรู้และความประพฤติ) เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้มีความเจริญจำแนกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ โดยไม่ต้องสงสัยแล
อนึ่ง พระธรรมเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ดีแล้ว อันผู้บรรลุจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นธรรมที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้อย่างไม่จำกัดกาลเวลา เป็นธรรมที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นธรรมที่ผู้รู้พึงรู้ได้เฉพาะตน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วแล เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว นี้คือคู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๔ บุรุษ นั่นแหละคือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า พระปฏิมานี้แล นักปราชญ์ได้อุทิศเฉพาะต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น สร้างไว้แล้วเพียงเพื่อเป้นเครื่องให้ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยการเห็นแล้ว ได้ความเลื่อมใส และความระลึกถึง
บัดนี้เราทั้งหลายมาถึงวันวิสาขบูชา อันเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า เป็นวันที่ประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จึงมาประชุมกันแล้วในที่นี้ ถือเครื่องสักการะมีธูปเทียนเป็นต้นเหล่านี้ ทำกายของตนเองให้เป็นดังภาชนะรองรับเครื่องสักการะ ระลึกถึงพระคุณทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นตามความเป็นจริง บูชาด้วยเครื่องสักการะตามที่ได้ถือไว้แล้ว จักทำประทักษิณซึ่งประปฏิมากรนี้สิ้นวาระ ๓ รอบ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขออัญเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว ยังทรงปราฏอยู่ด้วยพระคุณสมบัติอันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะพึงรู้โดยความเป็นอตีตารมณ์ ขอจงทรงรับซึ่งเครื่องสักการะอันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถือไว้แล้วนี้ เพื่อประโยชน์และเพื่อความสุข แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ 
๑. ทำบุญใส่บาตร
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
๓. ไปเวียนเทียนที่วัด
๔. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ



วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดง พระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ ๒ เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๘ ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์
การแสดงพระปฐมเทศนา ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดว่า
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเกิด พระโกณฑัญญะจึงเป็น พระอริยสงฆ์องค์แรก
คำว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไปมีความโดยย่อว่า
ที่สุด 2 อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้เกิดความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
การดำเนินตามทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริห์ชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจชอบ อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี 4 ประการได้แก่
ความทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ว่าโดยย่อ อุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
สาเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ
ความดับทุกข์ โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน
หนทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

พระพุทธองค์ทรงประกาศถึงสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง สิ่งนั้นก็คือ อริยสัจ มี ๔ ประการ คือ
๑. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเดือดร้อนใจ ทุกข์เพราะเกิด - ดับ ความไม่สมหวัง ความพรัดพรากจากคนรัก สิ่งของที่รัก และชอบใจ และทุกข์อันเนื่องมาจากขันธ์ ๕
๒. สมุทัย คือ เหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งได้แก่ตัณหา ๓ อย่าง ได้แก่
๒.๑ กามตัณหา ความอยากในอารมณ์ที่น่ารักใคร่ น่าชอบใจ
๒.๒ ภวตัณหา ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่
๒.๓ วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่
๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ กำจัดกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไป จิตสงบจากกิเลสและนิวรณ์
๔. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์, มรรคนี้ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ

และเมื่อกล่าวโดยย่อก็ได้แก่สิกขา ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
การที่จะเรียกว่าตรัสรู้อริยสัจนั้น ต้องเป็นความรู้ที่มีวนรอบคือ รู้ ๓ ชั้น ด้วยพระญาณทั้ง ๓ คือ
๑. สัจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้อริยสัจ
๒. กิจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ
๓. กตญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันทำแล้ว

ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า
นี้เป็นทุกข์ อันควรกำหนดรู้ และพระองค์ ได้กำหนดรู้แล้ว
นี้เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ อันควรละ และพระองค์ ได้ละแล้ว
นี้เป็นความดับทุกข์ อันควรทำให้แจ้ง และพระองค์ ได้ทำให้แจ้งแล้ว
นี้เป็นหนทางดับทุกข์ อันควรเจริญ และพระองค์ ได้เจริญแล้ว

สรุปได้ว่า ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ 4 มีรอบ 3 มีอาการ 12 คือ ขั้นแรก รู้ว่า อริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร ขั้นที่สองรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น และขั้นที่ 3 พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว
พระองค์ทรงเน้นว่า จากการที่พระองค์ทรงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญา ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง ในอริยสัจ 4 มี รอบ 3 มีอาการ 12 อย่างหมดจดดีแล้ว
เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
วันอาสาฬหบูชามีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ 3 ประการคือ
๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย
๒. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันนั้น
๓. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์

ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันมาน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุได้แก่พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมาที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถ อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เวียนเทียน และฟังพระธรรมเทศนา เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในวันวิสาขบูชา การแสดงธรรมในวันนี้จะเทศน์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
วันอาสาฬหบูชาจึงเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมกันน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยศึกษา พระธรรมวินัยอันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงทางแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นต่อไปชั่วกาลนาน
คำถวายดอกไม้ธูปเทียนเนื่องในวันอาสาฬหบูชา
ยะมัมหะ โข มะยัง ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, สัตเตสุ การุญญัง ปฏิจจะ กรุณายะโก, หิเตสี อะนุกัมปัง อุปาทายะ, อาสาฬหะปุณณะมิยัง พาราณะสิยัง, อิสิปะตะเน มิคะทาเย, ปัญจะวัคคิยานัง ภิกขูนัง, อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะฐะมัง ปะวัตเตตะวา, จัตตาริ อะริยะสัจจานิ ปะกาเสสิ ฯ ตัสมิญจะ โข สะมะเย, ปัญจะวัคคิยานัง ภิกขูนัง ปะมุโข, อายัสมา อัญญาโกณฑัญโญ, ภะคะวะโต ธัมมัง สุตะวา, วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง ปะฏิละภิตะวา, ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง, สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ, ภะคะวันตัง อุปะสัมสะทัง ยาจิตวา ภะคะวะโต ธัมมะวินะเย อะริยะสาวะกะสังโฆ โลโก ปะฐะนัง อะโหสิ พุทธะระตะนังธัมมะระตะนัง สังฆะระตะนัง สังฆะระคะนันติ ติระตะนัง สัมปุณณัง อะโหสิฯ มะยัง โข ตะระหิ อิมัง อาสาฬหะปุณณะมีกาลัง ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมะจักกัปปะวัตตะนะกาละสัมมะตัง อะริยะสาวะกะสังฆะอุปปัตติกาละสัมมะตัญจะ ระตะนัตตะยะสัมปุณณะกาละสัมมะตัญญจะ ปัตวา อิมัง ฐานัง สัมปัตตา อิเม สักกาเร คะเหตวา อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา อิมัง ถูปัง (อิมัง พุทธะปะฏิมัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานาฯ สาธุ โน ภันเต ภะคะวา สุจจิระปะรินิพพุโตปิ ญาตัพเพหิ คุเณหิ อะตตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน อิเม อัมเหหิ คะหิเค สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะฯ
คำแปล
เราทั้งหลายถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคพระองค์ใดแล้ว ว่าเป็นที่พึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด เป็นศาสดาของเราทั้งหลาย อนึ่ง เราทั้งหลายชอบใจซึ่งพระธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์ใด พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ทรงอาศัยความการุณ ในสัตว์ทั้งหลาย ทรงพระกรุณาแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ทรงอาศัย ความเอ็นดู ได้ยังพระธรรม จักรอันยอดเยี่ยมให้เป็นไป ทรงประกาศอริยสัจ ๔ เป็นครั้งแรกแก่พระภิกษุปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสีในวันอาสาฬหปุณณมี อนึ่ง ในสมัยนั้นแล ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เป็นหัวหน้าของพระภิกษุปัญจวัคคีย์ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้ธรรมจักษุอันบริสุทธิ์ปราศจากมลทินว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้น มีความดับเป็นธรรมดา" จึงทูลขออุปสมบท กะพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นองค์แรกในโลก อนึ่ง ในสมัยนั้นแลพระสังฆรัตนะได้บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะและพระสังฆรัตนะ ได้สมบูรณ์แล้วในโลก บัดนี้ เราทั้งหลาายแล มาประจวบมงคลสมัยอาสาฬหะปุณณมี วันเพ็ญอาสาฬหมาส ที่รู้พร้อมกันว่า เป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงประกาศพระธรรมจักรเป็นวันที่เกิดขึ้นแห่งพระอริยสงฆ์สาวก และเป็นวันที่ประรัตนตรัยสมบูรณ์ด คือ ครบ ๓ รัตนะ จึงมา ประชุมกันแล้ว ณ ที่นี้ ถือสักการะเหล่านี้ ทำกายของตนให้เป็นดังภาชนะรับเครื่องสักการะ ระลึกถึงพระคุณตาม ความเป็นจริงทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จจักทำประทักษิณสิ้นวาระสามรอบซึ่งพระสถูป (พระพุทธปฏิมา) นี้ บูชาอยู่ด้วยสักการะอันถือไว้แล้วอย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จปรินิพพานนานมาแล้ว ยังปรากฎอยู่ด้วยพระคุณสมบัติอันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะพึงรู้โดยความเป็นอตีตารมณ์ จงทรงรับเครื่องสักการะ อันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถือไว้แล้วนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ 
๑. ทำบุญใส่บาตร
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
๓. ไปเวียนเทียนที่วัด
๔. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ




วันอัฐมีบูชา

ความหมาย
เนื่องด้วยอัฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ (เดือน ๖) เป็นวันที่ถือกันว่าตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เมื่อถึงวันนี้แล้ว พุทธศาสนิกชนบางส่วน ผู้มีความเคารพอย่างแรงกล้าในพระพุทธองค์ มักนิยมประกอบพิธีบูชา ณ ปูชนียสถานนั้นๆ วันนี้จึงเรียกว่า “วันอัฐมีบูชา”
ความเป็นมา
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ๘ วัน มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีแห่งกรุงกุสินารา วันนั้นเป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธต้องมีความสังเวชสลดใจ และวิปโยคโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวันอัฐมีนั้นเวียนมาบรรจบแต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วน โดยเฉพาะพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาแห่งวัดนั้นๆ ได้พร้อมกันประกอบพิธีบูชาขึ้น เป็นการเฉพาะภายในวัด เช่นที่ปฏิบัติกันอยู่ในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ และวัดพระบรมธาตุเป็นต้น แต่จะปฏิบัติกันมาแต่เมื่อใด ไม่พบหลักฐาน ปัจจุบันนี้ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่

ความสำคัญ
โดยที่วันอัฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวันที่ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เป็นวันที่ชาวพุทธต้องวิปโยคและสูญเสียพระบรมสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง และเป็นวันควรแสดงธรรมสังเวช และระลึกถึงพระพุทธคุณให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติภาวนามัยกุศล

๑. ทำบุญใส่บาตร
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
๓. ไปเวียนเทียนที่วัด
๔. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ



วันเข้าพรรษา


จากที่เกิดวันเข้าพรรษา เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา เหตุเพราะสมัยก่อนฝนตกชุก การเดินทางสัญจรไปมาก็ไม่สะดวก อีกทั้งไปเหยียบต้นข้าวของชาวบ้าน ในสมัยที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว และได้ให้พระภิกษุสงฆ์ออกไปตามเขตต่าง ๆ เพื่อประกาศพระศาสนา จนมีผู้ขออุปสมบทมากขึ้น จึงทำให้มีพระภิกษุสงฆ์ออกไปเผยแพร่พระศาสนากันมากขึ้น แม้ในฤดูฝนก็มิได้หยุดพัก การเดินทางก็ไม่สะดวก ทั้งยังเหยียบข้าวกล้าให้เกิดความเสียหาย ทำให้สัตว์เล็กน้อยตาย ประชาชนจึงพากันติเตียนว่า "ไฉนเล่า พระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล เหยียบข้าวกล้าและติณชาติให้ได้รับความเสียหาย ทำให้สัตว์เล็กน้อยตาย พวกเดียรถีย์และปริพพาชกเสียอีกยังพากันหยุดพักในฤดูฝน ถึงนกยังรู้จักทำรังที่กำบังฝนของตน"
พระพุทธองค์ได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงกลางเดือน ๑๑ ห้ามมิให้เที่ยวสัญจรไปมา

วันเข้าพรรษาที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้มีอยู่ ๒ วัน คือ
๑.ปุริมิกาวัสสูปนายิกา คือ วันเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงวันเพ็ญ กลางเดือน ๑๑
๒.ปัจฉิมมิกาวัสสูปนายิกา คือ วันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒

ภิกษุเข้าพรรษาแล้ว หากมีกิจธุระจำเป็นอันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ แต่จะต้องกลับมา ยังสถานที่เดิมภายใน ๗ วัน พรรษาไม่ขาด ที่เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" เหตุที่ทรงอนุญาตให้ไปได้ด้วยสัตตาหกรณียะนั้นมี ๔ อย่างดังต่อไปนี้
๑. สหธรรมิกหรือมารดาบิดาเจ็บไข้ รู้เข้าไปเพื่อรักษาพยาบาล
๒. สหธรรมิกกระสันจะสึก รู้เข้าไปเพื่อห้ามปราม
๓. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุดลงในเวลานั้น ไปเพื่อหาเครื่องทัพพสัมภาะมาปฏิสังขรณ์
๔. ทายกต้องการบำเพ็ญบุญกุศลส่งคนมานิมนต์ ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของเขาได้
แม้ธุระอื่นนอกจากนี้ที่เป็นกิจจลักษณะอนุโลมเข้าในข้อนี้ด้วย

ในเวลาจำพรรษาเมื่อมีอันตรายเกิดขึ้นจะอยู่ต่อไปไม่ได้ และไปเสียจากที่นั้น พรรษาขาด
แต่ท่านไม่ปรับอาบัติ (ไม่เป็นอาบัติ) มีดังนี้ คือ
๑. ถูกสัตว์ร้าย โจร หรือปีศาจเบียดเบียน
๒. เสนาสนะถูกไฟไหม้ หรือน้ำท่วม
๓. ภัยเช่นนั้นเกิดขึ้นแก่โคจรคาม ลำบากด้วยบิณฑบาต ในข้อนี้ชาวบ้านอพยพจะตามเขาไปก็ควร
๔. ขัดสนด้วยอาหาร โดยปกติไม่ได้อาหารหรือเภสัชอันสบาย ไม่ได้อุปัฏฐากอันสมควร (ข้อนี้หากพอทนได้ก็ควรอยู่ต่อไป)
๕ .มีหญิงมาเกลี้ยกล่อม หรือมีญาติมารบกวนล่อด้วยทรัพย์
๖. สงฆ์ในอาวาสอื่นจวนจะแตกกันหรือแตกกันแล้ว ไปเพื่อจะห้ามหรือเพื่อสมานสามัคคีได้อยู่ (ในข้อนี้ ถ้ากลับมาทัน ควรไปด้วยสัตตาหกรณียะ)

พระพุทธองค์ทรงอนุญาตการอยู่จำพรรษาในสถานที่บางแห่ง แก่ภิกษุบางรูปผู้มีความประสงค์ จะอยู่จำพรรษาในสถานที่ต่าง ๆ กัน สถานที่เหล่านั้น คือ
๑. ในคอกสัตว์ (อยู่ในสถานที่ของคนเลี้ยงโค)
๒. เมื่อคอกสัตว์ย้ายไป ทรอนุญาตให้ย้ายตามไปได้
๓. ในหมู่เกวียน
๔. ในเรือ

พระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้อยู่จำพรรษาในสถานที่อันไม่สมควร สถานที่เหล่านั้นคือ
๑. ในโพรงไม้
๒. บนกิ่งหรือคาคบไม้
๓. ในที่กลางแจ้ง
๔. ในที่ไม่มีเสนาสนะ คือไม่มีที่นอนที่นั่ง
๕. ในโลงผี
๖. ในกลด
๗. ในตุ่ม

ข้อห้ามที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้อีกอย่างหนึ่ง คือ
๑. ห้ามมิให้ตั้งกติกาอันไม่สมควร เช่น การมิให้มีการบวชกันภายในพรรษา
๒. ห้ามรับปากว่าจะอยู่พรรษาในที่ใดแล้ว ไม่จำพรรษาในที่นั้น

อนึ่ง วันเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นกรณียพิเศษสำหรับภิกษุสงฆ์ เมื่อใกล้วันเข้าพรรษาควรปัดกวาด เสนาสนะสำหรับจะอยู่จำพรรษาให้ดี ในวันเข้าพรรษา พึงประชุมกันในโรงอุโบสถไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาต่อกันและกัน หลังจากนั้นก็ประกอบพิธีอธิษฐานพรรษา ภิกษุควรอธิษฐานใจของตนเองคือตั้งใจเอาไว้ว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า
"อิมสฺมึ อาวาเส อิมัง เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ แปลว่า ข้าพเจ้าจะอยู่จำพรรษาในอาวาสนี้ตลอด ๓ เดือน"
หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้ว ก็นำดอกไม้ธูปเทียนไปนมัสการบูชาปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัดนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูปเทียนไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์และพระเถระผู้ที่ตนเองเคารพนับถือ
อานิสงส์แห่งการจำพรรษา
เมื่อพระภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนได้ปวารณาแล้ว ย่อมจะได้รับอานิสงส์แห่งการจำพรรษา ๕ อย่าง ตลอด ๑ เดือนนับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป คือ
๑. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องบอกลา ตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรค ปาจิตตีย์กัณฑ์
๒. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณะโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้
๔. เก็บอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา
๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของพวกเธอ

และยังได้โอกาสเพื่อที่จะกราลกฐิน และได้รับอานิสงส์พรรษาทั้ง ๕ ขึ้นนั้นเพิ่มออกไปอีก ๔ เดือน ในฤดูหนาว คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ อีกด้วย
ในวันเข้าพรรษานี้ตามประวัติ ชาวไทยเราได้ประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง พิธีหลวง และ พิธีราษฎร์ กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับจะได้จำพรรษาอยู่ตลอด 3 เดือน จัดทำ เทียนจำนำพรรษา เพื่อใช้จุดบูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมา พระปริยัติธรรม ตลอดทั้ง 3 เดือน ถวายธูป เทียน ชวาลา น้ำมันตามไส้ประทีปแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในพระอาราม
สำหรับเทียนจำนำพรรษาจะมีการ แห่เทียน ไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้ เพื่อนำเทียนเข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย
สำหรับการปฏิบัติอื่น ๆ ก็จะมีการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด ตามกำลังศรัทธา และขีดความสามารถของตน นับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชน จะได้ประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของพระพุทธศาสนาได้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
๑. ทำบุญใส่บาตร
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
๓. ไปเวียนเทียนที่วัด
๔. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ



วันออกพรรษา
ต ร ง กั บ วั น ขึ้ น ๑ ๕ ค่ำ เ ดื อ น ๑ ๑

วันออกพรรษา คือวันสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่ในฤดูฝนซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
วันออกพรรษานี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันมหาปวารณา" คำว่า"ปวารณา"แปลว่า "อนุญาต" หรือ "ยอมให้" คือ เป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกัน ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ในข้อที่ผิดพลั้งล่วงเกินระหว่างที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน ในวันออกพรรษานี้กิจที่ชาวบ้านมักจะกระทำก็คือ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้ม มัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศลกรรมการ "ตักบาตรเทโว" คำว่า "เทโว" ย่อมาจาก"เทโวโรหน" แปลว่าการเสด็จจากเทวโลกการตักบาตรเทโว จึงเป็นการระลึกถึงวันที่ พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการโปรด พระพุทธมารดาในเทวโลก ประเพณีการทำบุญกุศล เนื่องในวันออกพรรษานี้ ทุกวัดในประเทศไทย ก็มีพิธีเหมือนกันหมด จะผิดกันก็เพียงแต่สถานที่ ที่สมมติว่าเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เท่านั้นกิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา
๑. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
๓. ร่วมกุศลธรรม "ตักบาตรเทโว"
๔. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและ ประดับธงชาติและธงธรรมจักรตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
๕. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษาฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป 




วันโกน - วันพระ

             
วันโกน คือ วันขึ้น ๗ ค่ำ กับ ๑๔ ค่ำ และแรม ๗ ค่ำ กับแรม ๑๔ ค่ำ ของทุก เดือน ( หรือ แรม ๑๓ ค่ำ หากตรง กับเดือนขาด ) ซึ่งเป็นวันก่อนวันพระ ๑ วัน
             วันพระ หรือ วันธรรมสวนะ คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ กับ ๑๕ ค่ำ และ แรม ๘ ค่ำ กับ แรม ๑๕ ค่ำ ของทุกเดือน (หากตรงกับเดือนขาด อาจเป็น แรม ๑๔ ค่ำ )
ประวัติความเป็นมา ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลว่า นักบวชศาสนาอื่นมีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรม คำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าศาสนาพุทธยังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาติให้ภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและ แสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ๑๕ค่ำพุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวัน ธรรมสาวนะ

๑. ทำบุญใส่บาตร
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
๓. ไปเวียนเทียนที่วัด
๔. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ



แหล่งที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น